บทเรียนยึดทรัพย์ ฎีกาหักคำสั่งรสช. เอาผิดย้อนหลังไม่ได้

thai-economic.jpg

 

ติดตามเงี่ยหูฟังกันทั้งบ้านทั้งเมือง ในที่สุดเมื่อเวลา 18.30 น. วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2550 “นาม ยิ้มแย้ม” ก็นั่งเป็นประธานนำคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือคตส. แถลงข่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่ง 2 ฉบับ ให้อายัดทรัพย์สินพ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ชินวัตร แล้ว

หลังจากที่คตส.ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ แล้วมีหลักฐานเชื่อได้ทุจริตประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติ ที่ยืนยันได้แล้ว 5 คดี นอกจากนี้ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์กิจการชินคอร์ปฯ หลายประการ เป็นประโยชน์อันมิควรได้ เป็นมูลค่าแฝงอยู่ในหุ้นของตัวที่กระจายให้ลูกและญาติถือแทน จึงต้องสั่งอายัดทรัพย์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้อายัดบัญชีทรัพย์สินในชื่อของพานทองแท้-พิณทองทา ชินวัตร บรรณพจน์ ดามาพงษ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯให้เทมาเสกเป็นเงิน 73,271 ล้านบาท กระจายอยู่ใน 21 บัญชี แต่มียอดเหลืออยู่จริงแค่ 52,884 ล้านบาท กับให้อายัดบัญชีทรัพย์สินในชื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ในธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งหมด

หากใครจะคัดค้านว่าเป็นเจ้าของทรัพย์ตัวจริง ต้องนำหลักฐานมาชี้แจงกับคตส. เพื่อยืนยันจนสิ้นสงสัยว่าไม่เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ไม่ใช่ของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน จึงจะคืนให้ ส่วนจะยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินแค่ไหนเพียงใด ต้องรอคำพิพากษาของศาลในคดีต่าง ๆ ที่คตส.ทะยอยส่งขึ้นไป

ทั้งนี้ คตส.อ้างอิงอำนาจตามประกาศคปค.ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ 5 วรรคสอง และข้อ 8 ซึ่งต้องรอลุ้นกันต่อว่า ท้ายสุดเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว จะมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์หรือไม่ จำนวนเท่าใด จากสำนวนคดีต่าง ๆ ที่คตส.ทะยอยสรุปเรื่องเวลานี้

เรื่องยึดทรัพย์นักการเมืองร่ำรวยผิดปกตินี้ ถ้าเทียบกับยุครสช.จะพบว่ามีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง

ครั้งนี้กว่าคตส.จะสั่งอายัดทรัพย์ก็ปาเข้าไปกว่าแปดเดือนหลังยึดอำนาจ แต่ยุครสช.สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน 7 คน ตามประกาศรสช.วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534 เพียงสองวันหลังยึดอำนาจ มีพล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน และมีคำสั่งรสช.ที่ 5/2534 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สั่งอายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินนักการเมืองทันที 22 คนพร้อมเมียและลูก และถัดมาอีก4 วันประกาศเพิ่มอีก 3 ราย รวมพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

จากนั้น 25 นักการเมืองต้องนำหลักฐานมาชี้แจงคตส.พิสูจน์ที่มาของทรัพย์สิน ใครพิสูจน์ที่มาที่ไปได้คตส.จะสั่งยกเลิกการอายัดทรัพย์ โดยในการกลั่นกรองรอบ 2 คตส.ประกาศเลิกอายัด 12 คน รอบ 3 รอดอีก 3 คน

เหลือที่ถูกสั่งยึดทรัพย์ 10 คน คือ 1.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 266 ล้านบาทเศษ 2.นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ 335.8 ล้านบาท 3.นายประมวล สภาวสุ 70.7 ล้านบาท 4.พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร 139.7 ล้านบาท 5.นายเสนาะ เทียนทอง 62.7 ล้านบาท 6.นายสุบิน ปิ่นขยัน 608 ล้านบาท 7.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 32 ล้านบาท 8.นายภิญญา ช่วยปลอด 61.8 ล้านบาท 9.นายวัฒนา อัศวเหม 4 ล้านบาท และ10.นายมนตรี พงษ์พานิช 336.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,969.38 ล้านบาท

ก่อนทะยอยประกาศรายชื่อยึดทรัพย์นั้น สภาได้ผ่านกฎหมายให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดการ”ยึดทรัพย์” โดย 10 นักการเมืองสามารถอุทธรณ์คำสั่งยึดทรัพย์ไปยังศาลเพื่อขอให้ถอนคำวินิจฉัยยึดทรัพย์ 25 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ของนักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ว่า ประกาศรสช.ฉบับ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 ให้ตั้งคตส.ให้มีอำนาจสอบสวนและสั่งอายัดทรัพย์นักการเมืองนั้น ขัดต่อประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลมาทำการเช่นเดียวกับศาล

ทรัพย์นักการเมืองที่สั่งอายัดให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์ที่นักการเมืองได้มาก่อนประกาศรสช.ฉบับ 26 จะมีผลบังคับใช้ การยึดทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง จึงขัดธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 และใช้บังคับมิได้

คำวินิจฉัยของคตส.(ยุคนั้น) ในเรื่องอายัดทรัพย์จึงไม่มีผลบังคับไปด้วย 10 นักการเมืองหลุดบ่วงทั้งหมด คำสั่งตั้งคตส.ยุคนี้ แม้จะไม่ได้ให้อำนาจชี้ขาดสั่งยึดทรัพย์ได้ทันที เพราะเมื่อตรวจสอบทำสำนวนคดีทั้งหมดแล้ว ต้องส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางศาลตามปกติ เพื่อพิพากษาตัดสินในท้ายที่สุด โดยคตส.ทำหน้าที่เสมือนทีมอัยการพิเศษ

แต่อำนาจ”อายัดทรัพย์”ตามประกาศคปค.ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 จะเข้าข่ายเป็นการออกกฎหมายให้มีโทษย้อนหลังหรือไม่ ถ้าครอบครัว”ชินวัตร”หยิบประเด็นนี้มาต่อสู้ จะถือว่าศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วหรือไม่  

ใส่ความเห็น