ระวังรัฐธรรมนูญอคติ

logo-thai-rath.gif

ระวังรัฐธรรมนูญอคติ [28 พ.ค. 50 – 17:09]

ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ยังร้อนกรุ่นๆ อยู่ และยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้เปิดประเด็นร้อนใหม่ขึ้นมาอีก นั่นคือ การเพิ่มเติมมาตรา 96 ของร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ถูกยุบโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจมีผลเป็นการล้างบางนักการเมืองชั้นแนวหน้าของประเทศนับร้อย

ลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส. ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เท่ากับนำเอาประกาศ คปค. เข้าไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการถาวร อันได้แก่ประกาศที่ระบุว่าให้เพิกถอนสิทธิการเมืองของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นปัญหาโต้เถียงกันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเป็นประกาศที่ออกมาหลังจากที่พรรคการเมืองต่างๆถูกร้องต่อศาล แล้วจึงมีปัญหาว่ามีผลบังคับย้อนหลังหรือไม่?

ลักษณะต้องห้ามที่เพิ่มเติมเข้า

มาใหม่ไม่ได้คำนึงถึงว่าการกระทำอันเป็นสาเหตุ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เป็นการกระทำที่หนักเบาแตกต่างกัน เช่น เพียงแต่พรรคเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค หรือข้อบังคับของพรรค โดยไม่ได้ผ่านที่ประชุมใหญ่ ก็อาจโดนยุบพรรคได้ เช่นเดียวกับการกระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ก็อาจถูกยุบพรรค

แต่กฎหมายพรรคการเมือง

ไม่ได้ลงโทษเหมือนกัน กล่าวคือพรรคที่ถูกยุบเพราะกระทำความผิดร้ายแรง เช่น ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย จึงจะให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรค ห้ามขอจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการพรรค แต่ไม่ได้ห้ามสมัคร ส.ส. ส่วนพรรคที่ทำผิดเล็กๆน้อยๆมีสมาชิกไม่ถึง 5 พันคน พรรคอาจโดนยุบ แต่ไม่ตัดสิทธิการเมืองกรรมการพรรค

แต่ถ้ารัฐธรรมนูญจะลงโทษ

กรรมการพรรคที่โดนยุบ โดยตัดสินห้ามสมัคร ส.ส. เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะโดนยุบเพราะความผิดเล็กๆน้อยๆ เช่น หาสมาชิกไม่ครบ 5 พันคน ภายใน 180 วัน หรือทำความผิดฉกรรจ์ เช่น ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย จะเป็นธรรมหรือ? ลักษณะต้องห้ามที่เพิ่มเข้ามาใหม่ อ้างว่าเพื่อป้องกันรัฐประหาร แต่ทำไมจึงจองล้างจองผลาญแต่ฝ่ายนักการเมือง

ทำไมจึงไม่มีบทบัญญัติของ

รัฐธรรมนูญ ป้องปรามฝ่ายที่มีศักยภาพที่จะทำรัฐประหาร หรือนักรัฐประหารบ้าง ตรงกันข้าม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กลับมีบทบัญญัติ ซึ่งดูประหนึ่งว่าส่งเสริมการทำรัฐประหาร เช่น การนิรโทษกรรม มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ระบุว่ารัฐประหารที่ผ่านมา “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

เป็นบทบัญญัติที่ยอมรับว่า

รัฐประหารที่ผ่านมา อาจผิดกฎหมาย แต่ให้ ผู้กระทำพ้นจากความผิด แต่ยังไม่มั่นใจพอ ยังได้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ระบุว่า “ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” เท่ากับรับรองว่ารัฐประหารเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ยอมรับไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญอย่าให้ถูกมองว่าทำด้วยอคติ แต่ต้องวางตัวเป็นกลาง. 

ใส่ความเห็น